เส้นทางมิจฉาชีพ รู้เท่าทันสแกมเมอร์ก่อนตกเป็นเหยื่อ!

Natk

“น้ำตาซึม! ลุง 74 ถูกแก๊งคอลฯหลอกโอน 3.2 ล้าน”
“แม่ค้าโวย ถูกมิจฉาชีพตั้งโอนเงินล่วงหน้า ก่อนกดยกเลิก”
“ยาย 82 ถูกแก๊งคอลฯ หลอกโอนเงินเกลี้ยง”
“ยาย 78 สูญเงินเกือบ 3 ล้าน โอนเงินให้มิจฉาชีพอ้างเป็นทหาร”

ช่วงนี้เราจะพบข่าวและบทความเตือนเรื่องการเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์และสแกมเมอร์อยู่เป็นประจำทุกวัน และหนึ่งในนั้นอาจจะเป็นคนใกล้ตัวของพวกเราทุกคน ที่แม้แต่เราเองที่ทำงานทางด้าน IT ยังป้องกันครอบครัวให้ถูกหลอกได้ยาก

เนื้อหาในวันนี้ทีมงาน Designil (ดีไซน์นิว) จะรวบรวมประเภทของสแกมเมอร์ที่มีการหลอกลวงในรูปแบบต่าง ๆ ที่เรามักพบบ่อย ตั้งแต่การหลอกให้ชำระค่าภาษี ไปจนถึงการหลอกให้โอนเงินที่มีจำนวนเงินตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลายล้านบาทด้วยวิธีการหลอกล่อเหยื่อหลายรูปแบบ ซึ่งเราอยากให้ทุกคนรู้เท่าทันการหลอกล่อและระมัดระวังตัวก่อนจะตกเป็นผู้ประสบภัย ถ้าพร้อมแล้วมาเริ่มกันเลยนะคะ

สแกม (Scam) คืออะไร?

สแกม คือ

การกระทำที่เกิดขึ้นโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่ใช้กลวิธีหรือเทคนิคต่าง ๆ เพื่อหลอกลวงผู้อื่น ทำให้ผู้เสียหายส่งมอบข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลทางการเงิน และจะนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ในการหลอกเอาเงินจากเรา

สิ่งที่ไม่เรียกว่าสแกม

– การแฮ็กคอมพิวเตอร์, อุปกรณ์หรือบัญชีของคุณเพื่อขโมยข้อมูลส่วนบุคคล
– การซื้อสิ่งของออนไลน์ แต่สิ่งที่รับคือของไม่ตรงปกหรือคุณภาพต่ำ
– การจ่ายเงินไปจำนวนมาก โดยมีมูลค่ามากกว่าสิ่งของที่ได้รับ

scammer image
ภาพ scammer ตัวอย่างจาก Dall-e

สแกมเมอร์ (Scammer) คืออะไร?

มิจฉาชีพที่หาเงินโดยใช้วิธีการที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยการหลอกลวงคนอื่น

เช่น การฟิชชิ่ง (Phishing) เป็นวิธีการที่สแกมเมอร์ใช้ในการหลอกลวงเอาข้อมูลของผู้อื่น เพื่อเข้าถึงข้อมูลบัญชีธนาคาร, ข้อมูลสำคัญส่วนบุคคล, ข้อมูลการรักษาพยาบาล, บัตรประชาชน, พาสปอร์ต, เลขรหัสบัตรเครดิต, และอื่น ๆ เพื่อนำไปใช้ในการโอนเงินออกจากบัญชี

ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนการโอนเงิน

รู้หรือไม่ว่าผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการสแกม มักจะไม่ได้ตกเป็นเหยื่อแค่ครั้งเดียว ผู้เสียหาย 1 ใน 3 คนจะถูกหลอกเอาเงินมากกว่าหนึ่งครั้ง ดังนั้นหากสแกมเมอร์ได้ข้อมูลการเงิน บัญชี หรือรู้ว่าคุณมีเงินจำนวนเท่าไรแล้ว มันจะกลับมาเพื่อหลอกลวงอีกครั้ง ยกเว้นแต่คุณจะหาทางติดต่อบุคคลที่ถูกต้องเพื่อช่วยให้เงินกลับคืนมา

จุดสังเกตสแกมเมอร์ (Scammer)

จับไต๋มิจฉาชีพ มีจุดสังเกตอะไรบ้างที่เราต้องดูให้ดี ๆ ก่อนถูกหลอก

เป็นส่วนที่คนทั่วไปมักผิดพลาดได้ง่าย เนื่องจากขาดความรู้ในด้านนี้ เราจึงมีข้อสังเกตง่าย ๆ มาฝากทุกคน

  • ตรวจสอบใบรับรอง SSL
    เว็บไซต์ที่ถูกต้องส่วนใหญ่จะมีใบรับรอง SSL ซึ่งแสดงไอคอนรูปกุญแจสีเขียวในแถบที่อยู่ ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเว็บไซต์มีใบรับรอง SSL ที่ถูกต้อง
  • ตรวจสอบข้อมูลติดต่อ 
    เว็บไซต์ปลอมมักไม่มีข้อมูลติดต่อที่ถูกต้องหรือครบถ้วน ตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีที่อยู่ อีเมล และหมายเลขโทรศัพท์ที่ถูกต้องและครบถ้วนหรือไม่
  • ตรวจสอบความคิดเห็นของลูกค้า และความถูกต้องของเนื้อหา
    เว็บไซต์ปลอมมักไม่มีความคิดเห็นของลูกค้าหรือมีแต่ความคิดเห็นเชิงบวกที่ดูไม่เป็นธรรมชาติ ตรวจสอบความคิดเห็นจากแหล่งอื่น ๆ รวมถึงตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหา การใช้ภาษา สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นข้อผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของสแกมเมอร์ที่ทำให้เราจับสังเกตได้

เวลาเห็นของของราคาถูก โปรโมชันปังจนน่าตกใจ รับสมัครงานที่ให้ผลประโยชน์เกินเรื้องาน หรือ การลงทุนให้ผลตอบแทนสูง แต่แทบไม่มีความเสี่ยง เมื่อเจอสิ่งเหล่านี้ให้เปิดสัญญาณเตือนตัวเองเอาไว้ให้ดี และมีสติไตร่ตรองเสมอ การตรวจสอบ Facebook page นั้นว่าปลอมหรือไม่ สามารถทำได้ไม่ยาก

  • ตรวจสอบราคา
    สินค้าบนเพจปลอมมักมีราคาถูกเกินจริงเพื่อดึงดูดเหยื่อ เปรียบเทียบราคากับร้านค้าปลีกที่เชื่อถือได้อื่นๆ
  • ตรวจสอบภาพสินค้า
    รูปภาพบนเพจปลอมมักมีคุณภาพต่ำหรือถูกขโมยมาจากเว็บไซต์อื่น เปรียบเทียบภาพกับเว็บไซต์อื่นๆ
  • ตรวจสอบข้อมูลการติดต่อ
    เพจปลอมมักไม่มีข้อมูลการติดต่อที่ถูกต้องหรือครบถ้วน ตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีที่อยู่ อีเมล และหมายเลขโทรศัพท์ที่ถูกต้อง

อย่าคลิกลิงก์หรือไฟล์แนบที่ได้รับทางอีเมล หรือข้อความทางโทรศัพท์ หรือช่องทางสื่อสารอื่น ๆ สแกมเมอร์จะพยายามหลอกเมื่อเราไม่ทันระวัง และส่งเราไปยังเว็บไซต์หลอกลวงที่ออกแบบมาเพื่อขโมยข้อมูลทางการเงินและข้อมูลส่วนตัว หรือบางครั้งก็ให้ดาวน์โหลดและติดตั้งแอปฯ เพื่อขโมยข้อมูลในโทรศัพท์แบบไม่ทันตั้งตัว

ตรวจสอบให้แน่ใจเสมอว่าใครเป็นผู้ส่งไฟล์มา บางครั้งข้อมูลอาจจะถูกส่งมาในรูปแบบที่อ้างอิงว่าตัวเองเป็นธนาคารชื่อดังหรือสถาบันทางการเงินที่น่าเชื่อถือ ทางที่ปลอดภัยที่สุดคือการหาข้อมูลด้วยตนเองโดยการเข้าเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันโดยตรงด้วยตนเอง แทนที่จะคลิกลิงก์ที่ถูกส่งมาจากผู้อื่น จุดสังเกตง่าย ๆ เบื้องต้นมีดังนี้

  • ตรวจสอบตัวสะกดของ URL
    มิจฉาชีพมักใช้ตัวสะกดที่คล้ายกับเว็บไซต์จริง แต่มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย เช่น เพิ่มตัวอักษรหรือเว้นวรรค ตรวจสอบให้แน่ใจว่า URL ตรงกับเว็บไซต์ที่คุณคาดหวัง
  • ตรวจสอบส่วนขยายโดเมน
    เว็บไซต์ที่ถูกต้องส่วนใหญ่จะใช้ส่วนขยายโดเมนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของตน เช่น .com, .net,.org เว็บไซต์ที่น่าสงสัยอาจใช้ส่วนขยายโดเมนที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น .info, .biz, .ws
  • ลอยเคอร์เซอร์เหนือลิงก์สั้น หรือ Short URL
    เมื่อคุณวางเมาส์เหนือลิงก์ แถบสถานะที่ด้านล่างของเบราว์เซอร์จะแสดง URL จริง ตรวจสอบให้แน่ใจว่าตรงกับลิงก์ที่แสดงบนหน้าจอ หรือเป็นลิงก์ของเว็บไซต์จริง

สแกมเมอร์จะแอบอ้างว่าเป็นตัวแทนจากองค์กรและอ้างว่าคุณต้องจ่ายเงิน โดยอาจขู่คุณด้วยการจับกุม การเนรเทศ หรือแม้แต่การทำร้ายร่างกาย หากคุณไม่ยอมจ่ายเงินให้พวกเขาทันที
พวกเขายังสามารถแบล็กเมลคุณโดยขู่จะแชร์ภาพหรือวิดีโอลับที่คุณเคยส่งให้พวกเขา เว้นแต่ว่าคุณจะส่งเงินให้

อย่าถูกกดดันด้วยคำขู่ หยุดคิดตริตรอง ตรวจสอบความจริง และติดต่อหาผู้เชี่ยวชาญทุกครั้งเมื่อถูกข่มขู่

  • ตรวจสอบที่อยู่อีเมล เบอร์โทรศัพท์
    เจ้าหน้าที่รัฐที่แท้จริงจะไม่ส่งอีเมลจากที่อยู่อีเมลส่วนตัว ตรวจสอบให้แน่ใจว่าที่อยู่อีเมลมาจากโดเมนของรัฐบาลที่ถูกต้อง อีกทั้งเจ้าหน้าที่รัฐจะไม่ใช้เบอร์ส่วนตัวในการติดต่อ
  • ตรวจสอบเนื้อหาข้อความ
    ข้อความหลอกลวงมักมีข้อผิดพลาดทางไวยากรณ์หรือการสะกดคำ ตรวจสอบให้แน่ใจว่าข้อความเขียนอย่างเป็นทางการและปราศจากข้อผิดพลาด
  • ตรวจสอบลิงก์
    อย่าคลิกลิงก์ในข้อความที่น่าสงสัย แต่ให้ไปที่เว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐบาลโดยตรงแทน

ก่อนที่จะปล่อยให้เงินหลุดลอยอกจากบัญชี โอกาสในการตรวจสอบปลายทางรับเงินให้ดียังเป็นของคุณ ดังนั้นอย่าทิ้งโอกาสนั้นไปเสีย เพราะถ้าเงินได้ถูกโอนออกไปแล้ว โอกาสที่จะกลับมาอยู่ในมือคุณง่าย ๆ นั้นแทบไม่มี เมื่อต้องการซื้อสินค้า อย่าลืมตรวจสอบร้านค้าด้วยการนำข้อมูลไปค้นหาที่เว็บไซต์ Blacklistseller ศูนย์กลางการตรวจสอบฉ้อโกงออนไลน์ เพื่อตรวจสอบบัญชีผู้ขายในเบื้องต้นก่อน

นอกจากนนี้สแกมเมอร์ยังมักจะขอให้เราจ่ายเงินด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ให้โอนเงินเข้าบัญชีม้า ในชื่อบุคคลที่เราไม่รู้จักมาก่อน, ให้ใช้บัตรเดบิตที่มีเงินอยู่แล้ว, บัตร iTunes, บัตร Giftcard, หรือสกุลเงินเสมือนเช่น Bitcoin ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าจะเป็นการหลอกลวง เพราะเมื่อเงินนี้ถูกใช้ไปแล้ว เราจะไม่สามารถเอาคืนได้


3 วิธีรับมือกับสแกมเมอร์

1. อย่าให้เงิน หรือเปิดเผยข้อมูลทางการเงินกับใครโดยง่าย – ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม โดยส่วนใหญ่สแกมเมอร์มักจะชอบปลอมตัวเป็นคนที่เราเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร, แบรนด์สินค้า, ทหาร, ตำรวจ, องค์กร DSI, องค์กรทางการเงิน หรือแม้แต่ปลอมตัวเป็นญาติเราเอง

2. คิดทุกครั้ง – ถามตัวเองว่าข้อความนี้เป็นข้อความหลอกลวง หรือลิงก์ปลอมหรือเปล่า เช่นข้อความจากหน่วยงานราชการจะส่งข้อความแบบนี้มาหาเราทำไม ข้อความจาก Elon musk เขาจะติดต่อหาเราง่าย ๆ ได้อย่างไรในเมื่อคนบนโลกมีเป็นสิบล้าน
ตรวจสอบข้อมูลผ่านทางช่องทางที่น่าเชื่อถือของรัฐทุกครั้งก่อนจะกดลิงก์หรือติดตั้งอะไรลงในโทรศัพท์มือถือของตัวเอง ถ้าไม่มั่นใจให้วางสาย, กดลบข้อความ, ถอดแบตเตอรี, และปิดอินเทอร์เน็ตทันที

3. ปกป้องตัวเอง – ตั้งตัวกลับมาให้ไว เมื่อพบว่าเราถูกหลอกโดยสแกมเมอร์ รีบติดต่อธนาคารผู้ให้บริการของเราอย่างรวดเร็ว เพื่อรับความช่วยเหลือ


6 ช่องทางที่สแกมเมอร์ใช้เพื่อเข้าถึงเรา

1. ผ่านทางข้อความ หรือ SMS

ข้อความหรือ SMS เป็นวิธีการหลอกลวงที่ถูกรายงานมากที่สุดในปีที่ผ่านมา ข้อความหลอกลวงมักจะทำให้รู้สึกกดดัน รีบเร่ง เพื่อให้เรารีบดำเนินการ สแกมเมอร์มักจะแนบลิงก์ที่นำทางไปยังเว็บไซต์หลอกลวง เพื่อให้เรากรอกข้อมูลส่วนบุคคลลงในเว็บไซต์เหล่านั้น จะได้ขโมยหรือปลอมแปลงตัวตนในการโอนเงินของเราออกไปจากบัญชีหรือกระทำการฉ้อโกงในชื่อของเราได้

เพื่อให้ข้อความเหล่านี้ดูสมจริง สแกมเมอร​์จะปลอมแปลงหมายเลขโทรศัพท์และรหัส OTP (One-time Password) คนที่คุณรู้จักหรือองค์กรที่น่าเชื่อถือ ซึ่งข้อความหลอกลวงอาจปรากฏในสายข้อความเดียวกันกับข้อความจริงจากองค์กรก็เป็นไปได้ ทำให้ยากต่อการตรวจสอบมากขึ้นไปอีก เรียกได้ว่าพยายามปลอมแปลงกันแบบเนียนกริบเลยจริง ๆ หากเราไม่สังเกตดี ๆ ก็อาจตกเป็นเหยื่อได้อย่างง่ายดาย

ตัวอย่างข้อความปลอมแปลงที่ส่งมาในสายข้อความของแอปฯ Telegram ตัวจริง
ตัวอย่างข้อความปลอมแปลงที่ส่งมาในสายข้อความของแอปฯ Telegram ตัวจริง

2. ทางสายโทรเข้าจากโทรศัพท์มือถือ

1 ใน 3 ของการโดนล่อลวงโดยมิจฉาชีพ ซึ่งถูกรายงานเข้ามามากที่สุด เกิดขึ้นจากการติดต่อทางโทรศัพท์ สแกมเมอร์จะโทรเข้ามาโดยอ้างว่ามาจากองค์กรที่มีชื่อเสียง เช่น ตำรวจ, DSI, สรรพากร รวมถึงองค์กรรัฐบาล หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย บริษัทการลงทุนและกฎหมาย ธนาคาร ผู้ให้บริการโทรคมนาคม หรือผู้ให้บริการอื่น ๆ

บุคคลเหล่านี้จะกล่าวหาด้วยประเด็นเร่งด่วน เพื่อกดดันให้คุณรีบดำเนินการในทันที และพยายามโน้มน้าวคุณให้มอบข้อมูลส่วนตัวหรือรายละเอียดบัญชีธนาคาร หรือพยายามให้คุณติดตั้งแอปพลิเคชันลงในโทรศัพท์ โน้มน้าวให้กดลิงก์หรือให้สิทธิ์เข้าถึงคอมพิวเตอร์ของคุณจากระยะไกล โดยผู้โทรอาจมีรายละเอียดบางอย่างเกี่ยวกับคุณอยู่แล้ว เช่น ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ เลขบัตรประชาชน หรือข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ ที่อาจจะเป็นข้อมูลที่เคยหลุดไปก่อนหน้านี้

ตัวอย่างสายเรียกเข้าจากมิจฉาชีพ
ตัวอย่างสายเรียกเข้าจากมิจฉาชีพ
การใช้แอปฯ ช่วยคัดกรองผู้ติดต่อก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้เราไม่ตกหลุมพรางของมิจฉาชีพ

3. ทางอีเมล

สแกมเมอร์ส่วนใหญ่จะส่งอีเมลที่อ้างว่าเป็นเรื่อง “ด่วน” โดยแกล้งทำเป็นว่ามาจากรัฐบาล หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย หรือองค์กรทางธุรกิจต่าง ๆ

ลักษณะคือจะปลอมแปลงอีเมล เอกสารโดยใช้โลโก้เดียวกันและที่อยู่อีเมลที่คล้ายคลึงกับขององค์กรจริง นอกจากนี้ยังสามารถคัดลอกหรือ “ปลอม” ที่อยู่อีเมลขององค์กรหรือธุรกิจเพื่อทำให้อีเมลหลอกลวงดูเหมือนจริงยิ่งขึ้น

4. ทางโซเชียลมีเดีย (Social Media) ช่องทางต่างๆ

แกมเมอร์จะสร้างโปรไฟล์ปลอมบนโซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์มส่งข้อความ และแอปฯ ต่าง ๆ โดยจะแกล้งทำเป็นว่ามาจากรัฐบาล องค์กรธุรกิจจริง นายจ้าง บริษัทลงทุน หรือแม้แต่เพื่อน สมาชิกครอบครัว หรือคนรัก

ตัวอย่างเช่น:

  • ใช้โลโก้เดียวกันกับองค์กรจริงหรือรูปภาพของบุคคลที่พวกเขาแกล้งเป็น เพื่อทำให้การหลอกลวงแนบเนียนสมจริงและยากต่อการตรวจจับ
  • แอบอ้างเป็นคนดังเพื่อ ‘แนะนำ' สินค้าหรือบริการ
  • สร้างตัวตนปลอมเพื่อเป็นเพื่อนกับคุณ หรือพยายามเกี้ยวพาเอาชนะใจคุณ เพื่อนำไปสู่การล่อลวงเอาทรัพย์สิน

สแกมเมอร์ยังสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับคุณจากเรื่องราวที่คุณแชร์บนโซเชียลมีเดียของคุณได้ด้วย พวกเขาจะสร้างแบบทดสอบหรือเกมง่าย ๆ มาให้คุณเล่นเพื่อหลอกขอสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลของคุณบนโลกโซเชียล อาทิ ชื่อ นามสกุล เบอร์โทร. อีเมล รูปถ่าย คลิปวิดีโอ และรายชื่อผู้ติดต่อหรือเพื่อนของคุณบนโซเชียลมีเดีย หรือสร้างโพสต์ที่ออกแบบมาเพื่อหลอกให้คุณแชร์ข้อมูลส่วนตัว มิจฉาชีพจะใช้ข้อมูลนี้เพื่อเดารหัสผ่านบัญชีของคุณ หรือนำข้อมูลจากทางโซเชียลมีเดียไปใช้หลอกลวงด้วยวิธีการอื่น ๆ อีกมากมาย

5. ทางเว็บไซต์

สแกมเมอร์จะสร้างเว็บไซต์ปลอม ๆ ให้ดูเหมือนแบรนด์สินค้าที่มีชื่อเสียงและเสนอโปรโมชันที่ดึงดูใจ หรือแอบอ้างเป็นคนดังที่มีชื่อเสียงมากแนะนำสินค้าหรือบริการต่าง ๆ โดยใช้รีวิวปลอมเพื่อทำให้คุณไว้วางใจ

นอกจากนี้ยังมีแบนเนอร์โฆษณา หน้าต่างป๊อปอัปแจ้งเตือน หรือข้อความแสดงข้อผิดพลาดปลอม ๆ ที่สามารถกดดันให้คุณกรอกข้อมูลส่วนตัวได้

รวมถึงยังมีการยิง ads หรือโฆษณาปลอมผ่านทางเว็บไซต์ Google หรือโซเชียลมีเดีย เพื่อหลอกล่อให้คุณมาลงทุน ซื้อสินค้าหรือบริการปลอม ๆ หรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีส่วนบุคคลได้ด้วย

6. การหลอกลวงแบบเข้าถึงตัวบุคคล

สแกมเมอร์อาจจะมาเคาะประตูบ้านคุณหรือเข้าหาคุณในที่สาธารณะและขอให้คุณทำบางอย่าง

พวกเขาอาจจะ:

  • ขอให้ชำระเงินล่วงหน้าสำหรับสินค้าและบริการ
  • กดดันให้คุณทำแบบสำรวจกรอกข้อมูลเอกสารเพื่อรับข้อมูลส่วนตัวของคุณ
  • ขอรับบริจาคเพื่อ ‘การกุศล’
  • แสร้งว่าเป็นคนพิการ หรือไม่มีเงินกลับบ้านเพื่อขอเงิน

7 ประเภทหลักของสแกม

สแกมเมอร์จะหาเราจากโซเชียลมีเดีย แอปฯ หาคู่ เกม หรือเว็บไซต์ต่าง ๆ มิจฉาชีพเหล่าจะใช้โพรไฟล์ปลอมหรือปลอมแปลงตัวตนของคนดังส่งข้อความหรืออีเมลมาให้คุณ ซึ่งมิจจี้พวกนี้เก่งมากในการทำให้คุณรู้สึกพิเศษ และเชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นของจริง หลังจากนั้นก็จะแสร้งว่ากำลังลำบากต้องการใช้เงิน โดยจะให้เราโอนเงินส่งไปให้ก่อน

อย่าสูญเสียเงินออมทั้งชีวิตไปกับโอกาสทำเงินที่ดีเกินกว่าจะเป็นจริง เพราะความเป็นจริงแล้วไม่มีเงินใดได้มาแบบง่าย ๆ

สแกมเมอร์มักจะใช้การตลาดที่น่าเชื่อถือและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อทำให้การลงทุนดูน่าสนใจ ให้ผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงต่ำหรือไม่มีความเสี่ยงเลย ทำให้เราไม่อยากพลาดโอกาสลงทุนครั้งนี้

และมักจะใช้กลยุทธ์กดดันให้คุณรีบดำเนินการ เพื่อที่จะสามารถขโมยเงินของคุณได้อย่างรวดเร็วขณะที่คุณไม่ทันได้มีสติไตร่ตรอง

สแกมเมอร์มักจะสร้างเว็บไซต์ปลอมหรือโพรไฟล์ปลอมบนเว็บไซต์ของผู้ขายสินค้า จากนั้นก็จะเสนอสินค้าหรือบริการในราคาที่ดีจนน่าสงสัย นอกจากนี้มิจฉาชีพยังมีการปลอมแปลงเพจและโพสต์โฆษณาหรือรีวิวปลอม โดยใช้โลโก้และภาพที่ขโมยมาในการล่อลวงให้เรากดสั่งซื้อสินค้าหรือบริการอีกด้วย

ตัวอย่างเพจปลอมที่มีการทำโฆษณาโปรโมชันถูกเกินจริง
ตัวอย่างเพจปลอมที่มีการทำโฆษณาโปรโมชันถูกเกินจริง เพื่อหลอกให้กรอกรายละเอียดข้อมูลส่วนบุคคล
สังเกตได้จากเพจต้นทางเพิ่งเปิดใหม่ มีผู้ติดตามน้อยผิดปกติ โพสต์ไม่มีการอัปเดตข้อมูลเกี่ยวกับแบรนด์ และลิงก์เว็บไซต์ .shop ที่ดูไม่น่าเชื่อถือ

สแกมเมอร์จะแอบอ้างว่าเป็นตัวแทนจากองค์กรของรัฐและอ้างว่าคุณจะถูกจับกุม ถูกเนรเทศ หรือถูกทำร้ายร่างกาย พร้อมเสนอทางให้คุณจ่ายเงินทันที เพื่อแลกกับความปลอดภัย หรือไม่ถูกดำเนินคดีตามที่กล่าวอ้าง
นอกจากนี้สแกมเมอร์ยังสามารถแบล็กเมล์คุณ โดยข่มขู่จะแชร์ภาพหรือวิดีโอลับที่คุณเคยส่งให้กับพวกมัน เพื่อให้คุณเกิดควารมกลัวและโอนเงินให้ทันที

หากคุณพบเจอสถานการณ์แบบนี้ให้หยุดตั้งสติ และตรวจสอบว่ามันเป็นความจริงหรือไม่ จากนั้นติดต่อหาสายด่วนตำรวจไซเบอร์ที่เบอร์ 1441 ทันที

สแกมเมอร์มักจะอ้างว่ากำลังรับสมัครงานในนามของบริษัทชั้นนำ และยังแอบอ้างเป็นหน่วยงานจัดหางานที่มีชื่อเสียงอีกด้วย เป้าหมายก็เพื่อขโมยเงินและข้อมูลส่วนตัวของคุณ

ซึ่งมิจจี้พวกนี้มักจะขอให้คุณชำระเงินก่อนเริ่มงาน เพื่อให้ได้รับรายได้ตามที่สัญญาเอาไว้ รู้สึกแปลก ๆ บ้างแล้วหรือยัง หากพบเจอเหตุการณ์แบบนี้ อย่ายินยอมทำข้อตกลงหรือโอนเงินล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นการโอนผ่านธนาคาร คิวอาร์โค้ด หรือเงินสกุลดิจิทัลต่าง ๆ เช่น Bitcoin หรือ USDT เพราะเป็นเรื่องยากมากที่จะได้เงินคืน

ตัวอย่างมิจฉาชีพปลอมแปลงเป็นบริษัทจัดหางานมาในช่องทาง WhatsApp
ตัวอย่างมิจจี้ปลอมแปลงเป็นบริษัทจัดหางานมาในช่องทาง WhatsApp

สแกมเมอร์จะแจ้งว่าคุณมีสิทธิ์ได้รับเงินก้อนโตหรือรางวัลที่คุณไม่คาดคิดว่าจะได้รับ แต่จะขอให้คุณจ่ายค่าธรรมเนียม ค่าภาษี หรือให้ข้อมูลทางการเงิน หรือข้อมูลส่วนตัวเสียก่อน ก่อนที่จะรับเงินหรือรางวัลนั้น

ความจริงแล้วไม่มีเงินหรือรางวัลใดที่ได้มาฟรี ๆ และมีสิทธิ์ที่คุณจะต้องสูญเสียเงินมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการพยายามที่จะได้รับเงินหรือรางวัลพิเศษเหล่านั้น

สแกมเมอร์จะหลอกให้คุณคิดว่าพวกเขามาจากองค์กรต่าง ๆ เช่น ตำรวจ รัฐบาล ธนาคาร หรือองค์กรธุรกิจที่มีชื่อเสียง นอกจากนี้พวกมิจฉาชีพยังสามารถแอบอ้างเป็นเพื่อนหรือสมาชิกครอบครัวของคุณได้ด้วย

โดยจะใช้เทคโนโลยีทำให้การโทรนั้นดูเหมือนมาจากหมายเลขโทรศัพท์ที่ถูกต้อง หรือข้อความที่แจ้งเตือนก็จะปรากฏในสายสนทนาเดียวกันกับข้อความจริงจากองค์กร

นอกจากนี้ยังมีการทำ Deepfake หรือใช้เทคนิคเอไออีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแบบวิดีโอคอลหหรือปลอมแปลงเสียงเป็นญาติของเรา เพื่อหลอกเอาข้อมูลจากเรา ดังนั้นอย่าลืมยืนยันตัวตนกับคนใกล้ชิดทุกครั้งก่อนการตัดสินใจโอนเงิน


หากรู้ตัวว่าโดนหลอกแล้ว จะทำอย่างไร?

1. ยอมรับว่าตัวเองตกเป็นผู้เสียหาย และรีบติดต่อผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับเราทันที เพื่อขอรับความช่วยเหลือ

2. ติดต่อธนาคารตามเบอร์สายด่วนของแต่ละธนาคาร และติดต่อตำรวจไซเบอร์ที่เบอร์ 1441 เพื่อขอความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

อย่าเชื่อสแกมเมอร์ที่ปลอมตัวมาเป็นตำรวจและธนาคารที่โทรเข้ามาหาเราโดยเด็ดขาด ให้เลือกติดต่อช่องทางโดยตรงเท่านั้น โดยเราต้องเป็นผู้ติดต่อและแจ้งความด้วยตนเอง

ขั้นตอนการติดต่อธนาคารหากตกเป็นเหยื่อ


รีบตั้งสติถ้าตกเป็นเหยื่อ เตรียมตัวหาข้อมูลให้พร้อมเพื่อเรียกร้องสิทธิ์ของเรากลับคืนมา ปัจจุบันมิจฉาชีพมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การหลอกลวงเริ่มมีความแนบเนียนกว่าที่เราคาดคิด ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เราจะเห็นคดีความเกี่ยวกับมิจฉาชีพเยอะมากขึ้น หวังว่าบทความนี้จะทำให้ทุกคนได้ระมัดระวังและเตรียมพร้อมตั้งรับมือกับมิจฉาชีพ สามารถป้องกัน แก้ไข และดูแลตัวเองได้

แล้วกลับมาเจอกันใหม่กับบทความดี ๆ จาก Designil (ดีไซน์นิว) นะคะ ^_^
นักเขียนนัทคนเดิม ติดตามกันเป็นประจำได้ทางเว็บไซต์เลยค่ะ ขอบคุณค่า


ขอบคุณข้อมูลจาก

บทความที่เกี่ยวข้อง

Natk

Natk

UI Specialist ซิดนีย์ ออสเตรเลีย เป็นดีไซน์เนอร์มา 12 ปี | สนใจเรื่อง User Interface, User Experience, Accessibility, Education | ผู้ก่อตั้งกลุ่มเฟซบุ๊ก Tech ไทยในออสเตรเลีย | ผู้ดูแลเว็บไซต์ Designil
บทความทั้งหมด